ประเด็นร้อน
เปิดหลักฐานใหม่ สู้ค่าโง่ 'โฮปเวลล์' ลุ้นรัฐไม่ต้องควัก 1.1 หมื่นล้าน
โดย ACT โพสเมื่อ Aug 05,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -
พบหลักฐานใหม่ อัยการยื่นศาลปกครองฟื้นคดีค่าโง่ เผยข้อมูลสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น พบทุนโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ฮ่องกง-กอร์ดอน วู เริ่มถอนหุ้นปี 2548 ดึงทุนมอริเชียสเสียบแทน ลุ้นศาลปกครองรับคดีกลาง ส.ค.นี้ ลุ้นไม่เสียค่าโง่ 1.1 หมื่นล้าน
โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร หรือโครงการโฮปเวลล์เป็นโครงการที่มีข้อขัดแย้งระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มาตลอดตั้งแต่ลงนามเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 จนนำมาสู่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2540
ข้อขัดแย้งได้ข้อสรุปเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้กระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท.ดำเนินการตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยภาครัฐต้องจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ภายใน 180 วัน นับจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ประเมินมูลหนี้รวมตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2551 ถึงสิ้นเดือน เม.ย.2562 รวมวงเงิน 25,411 ล้านบาท
“ศักดิ์สยาม” สั่งสู้คดีถึงที่สุด
ล่าสุดนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมาออกมาระบุว่า หลังจากที่เข้ารับหน้าที่ได้รับหนังสือจากสำนักงานอัยการสูงสุดชี้แจงถึงการพบหลักฐานใหม่ที่จะทำให้ ร.ฟ.ท.นำมาสู้คดีได้ และอาจมีส่วนในการพิจารณากรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ ร.ฟ.ท.จ่ายค่าชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กรณีที่รัฐไปบอกเลิกสัญญา
สำหรับการบริหารงานโดยไม่มีค่าโง่ในรัฐบาลนี้เป็น 1 ในนโยบายที่นายศักดิ์สยาม ให้ความสำคัญและเน้นย้ำกับผู้บริหารกระทรวงคมนาคม โดยการฟื้นคดีโฮปเวลล์เริ่มจากการที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามมอบอำนาจให้อัยการดำเนินการแทนเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา และอัยการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา และศาลจะใช้เวลาในการพิจารณารับคดี 30 วัน หากศาลไม่รับพิจารณาคดีถือว่าคดีสิ้นสุดและ ร.ฟ.ท.ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งศาล
“ผมเห็นว่าหากเป็นหลักฐานใหม่ที่ทำให้รัฐบาลมีโอกาสก็ควรสู้คดีให้ถึงที่สุด” นายศักดิ์สยาม กล่าวเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา
สัญญาชี้เงื่อนไขทุนฮ่องกง
รายงานข่าวระบุว่า ประเด็นสำคัญที่อาจนำมาสู่การฟื้นคดี คือ การที่บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด (สัญชาติฮ่องกง) ถอนหุ้นออกจากบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และมีผู้อื่นเข้ามาถือหุ้นแทน
สำหรับสัญญาที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 กำหนดให้มีการตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนในไทยเพื่อรับสัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยสัญญาเริ่มมีผลวันที่ 6 ธ.ค.2534 โดยมีเงื่อนไขสำคัญให้บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด (สัญชาติฮ่องกง) ต้องคงการถือหุ้นในบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างน้อย 30% ของเงินทุนจดทะเบียน ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของกรมอัยการ รวมทั้งสัญญากำหนดให้การจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการเฉพาะกิจการสัมปทานเท่านั้น
โฮปเวลล์โฮลดิ้งถอนหุ้นปี 48
ทั้งนี้ ข้อมูลการยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ของบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า การรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2548 เป็นครั้งสุดท้ายที่ปรากฏชื่อผู้ถือหุ้นมีบริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด และนายกอร์ดอน วู ยิง เช็ง นักธุรกิจสัญชาติอังกฤษที่เป็นผู้เสนอโครงการนี้
การยื่น อบจ.5 ดังกล่าว พบการระบุจำนวนหุ้น 600 ล้านหุ้น โดยบริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ดถือหุ้นมากที่สุด 599,994,000 หุ้น ส่วนที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย 6 คน คนละ 1,000 หุ้น คือ นายกอร์ดอน วู ยิง เชง ,นายเอ็ดดี โฮ ปิง ชาง (อังกฤษ) ,นายเอ็นรี่ ลี ฮิน โมล์ (อังกฤษ) ,นายโรเบิร์ต แวน-จิน เนียน (จีน) ,นายเดวิด ลุย ยัว เกย์ (ออสเตรเลีย) และนายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้นายกอร์ดอน วู ยิง เชง เข้ามาลงทุนประมูลสร้างทางรถไฟยกระดับดังกล่าว และเป็นผู้ร่วมผลักดันจนเกิดการลงนามสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชน
ทุน “มอริเชียส” เสียบแทน
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการยื่น บอจ.5 คือ ประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2548 ในรายชื่อผู้ถือหุ้นที่รับรองไม่มีชื่อบริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด และนายกอร์ดอน วู ยิง เชง
การประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวระบุจำนวนหุ้น 1,500 ล้านหุ้น และเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่ทั้งหมด คือ บริษัทยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ด ถือหุ้น 1,499,999,994 หุ้น ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศมอริเชียส และแจ้งว่าทำธุรกิจบริการ
ส่วนที่เหลือเป็นรายย่อย 6 คนคนละ 1 หุ้น สัญชาติไทยทั้งหมด คือ นายไชยยันต์ ชาติกุล ,นางสาววิชชุดา ศรีรัตนประภาศ ,นางสาวสุนันทา นิศกุลรัตน์ ,นางนิตยา เกียรติเสรีกุล ,นายสุนันท์ พิพัฒน์สมบัติ และนางศรีรัชฎ์ ปัญจพรรค์
ต่อมาในปี 2549 มีการซื้อขายหุ้นจำนวน 50 ล้านหุ้น ถึง 3 ครั้ง เริ่มจากวันที่ 31 มี.ค.2549 ยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ด (มอริเซียส) ขายหุ้นให้กับ ชางโฮลดิ้ง ลิมิเต็ด เวอร์จิน สัญชาติไอส์แลนด์ จากนั้น ในวันที่ 17 พ.ค. 2549 ชางโฮลดิ้ง ได้ขายหุ้นต่อให้ บริษัทวิชเวลล์ เรียลตี้ สัญชาติไทย ปัจจุบันล้มละลาย ต่อมาในวันที่ 31 ส.ค.2549 วิชเวลล์ เรียลตี้ ได้ขายหุ้นต่อให้กับ บริษัทเอฟเอสเอ็น คอนซัลติ้ง สัญชาติมาเลเซีย
ขณะที่มีการประชุมผู้ถือหุ้นพื่อรับรองรายชื่อผู้ถือหุ้น 16 ครั้ง และแจ้งรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2561 ยังคงมีบริษัทยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด 1,499,999,994 หุ้น รองลงมาเป็นบริษัทเอฟเอสเอ็น คอลซัลติ้ง (สัญชาติมาเลเซีย) ถือหุ้น 50 ล้านหุ้น และแจ้งทำธุรกิจค้าขาย
ส่วนที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยชาวไทย 5 คน รวม 6 หุ้น คือ นายธีรภัทร ทวีสิน ,นางสาวสุนันทา นิศกุลรัตน์ ,นางนิตยา เกียรติเสรีกุล ,นายสุนันท์ พิพัฒน์สมบัติ และนางศรีรัชฎ์ ปัญจพรรค์
ชี้ต้นทุนสัมปทาน 1.9 หมื่นล้าน
นอกจากนี้ ในการแจ้งงบดุลของบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าใน 2560 ได้เริ่มระบุต้นทุนการได้มาซึ่งสัมปทาน โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.2560 ระบุต้นทุนการได้มาซึ่งสัมปทาน 19,862 ล้านบาท และข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 ระบุต้นทุนการได้มาซึ่งสัมปทานโครงการทางด่วนยกระดับและระบบการขนส่งทางรถไฟและทรัพย์สินเชองพาณิชย์ ไว้ที่ 19,870 ล้านบาท ซึ่งได้รวมรายการอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสัมปทาน
ในขณะที่การแจ้งงบกำไรขาดทุน ณ 30 มิ.ย.2561 พบว่า มีรายได้รวม 5.84 ล้านบาท เป็นรายได้จากกำไรทั้งหมด ในขณะที่รายจ่ายรวมอยู่ที่ 4.79 ล้านบาท มีกำไรก่อนต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ 1.05 ล้านบาท เมื่อรวมต้นทุนทางการเงินจะขาดทุนสุทธิ 42.74 ล้านบาท
ร.ฟ.ท.ลุ้นไม่เสียค่าโง่
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า คณะทำงานดำเนินการตามศาลปกครองสูงสุดในคดีโฮปเวลล์ของ ร.ฟ.ท.ยังคงทำงานต่อเนื่อง เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 ที่สั่งให้ ร.ฟ.ท.จ่ายค่าเสียหายให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ภายใน 180 วัน หรือเดือน ต.ค.นี้
ทั้งนี้ หลังมีคำพิพากษาได้มีการประเมินวงเงินที่ ร.ฟ.ท.ต้องจ่ายรวมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2551 (วันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาด) ถึงสิ้นเดือน เม.ย.2562 วงเงินรวม 25,411 ล้านบาท แยกเป็น
1.ค่าก่อสร้างรวม 16,130 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 9,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด 16,130 ล้านบาท
2.ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 8,728 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 2,850 ล้านบาท และดอกเบี้ยตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญา 5,878 ล้านบาท
3.ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน 53.28 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 38.75 ล้านบาท และดอกเบี้ย 14.53 ล้านบาท
4.หนังสือค้ำประกัน 500 ล้านบาท 5.ค่าธรรมเนียมศาลอุทธรณ์ 16.53 ล้านบาท
สำหรับวงเงินที่ ร.ฟ.ท.ต้องจ่ายดังกล่าวยังไม่มีการสรุป เพราะดอกเบี้ยที่จะชำระขึ้นกับระยะเวลาที่จะจ่ายค่าเสียหายให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งรอดูผลการพิจารณาของศาลปกครองว่าจะรับฟื้นคดีหรือไม่ในกลางเดือน ส.ค.นี้
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน